รีวิว Surface Pro 7+ อัพเกรดย่อยครึ่งรอบ พลัง Tiger Lake, ใส่ซิม 4G, SSD ถอดเปลี่ยนได้

0 Comments

รีวิว Surface Pro 7+ อัพเกรดย่อยครึ่งรอบ พลัง Tiger Lake, ใส่ซิม 4G, SSD ถอดเปลี่ยนได้

รีวิว Surface Pro 7+ อัพเกรดย่อยครึ่งรอบ พลัง Tiger Lake, ใส่ซิม 4G, SSD ถอดเปลี่ยนได้

ไมโครซอฟท์เปิดตัวฮาร์ดแวร์รอบต้นปี 2021 ไม่มากนัก มีเพียง 2 รุ่นเท่านั้นคือ Surface Pro 7+ และ Surface Laptop 4 ซึ่งเป็นการอัพเกรดสเปกภายในล้วนๆ โดยยังคงบอดี้ภายนอกแบบเดิม
กรณีของ Surface Pro 7+ ถือเป็นครั้งแรกที่ไมโครซอฟท์ออกรุ่น + ให้กับสินค้าแบรนด์ Surface อีกทั้งยังเป็น Surface for Business ขายเฉพาะลูกค้าองค์กรเท่านั้นด้วย สำหรับในประเทศไทย Surface Pro 7+ เปิดราคาและเริ่มวางขายมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดย Blognone ก็ได้เครื่องมาทดสอบด้วย

สเปกเครื่อง
การเปลี่ยนแปลงสำคัญในแง่สเปกของ Surface Pro 7+ เทียบกับ Surface Pro 7 มีเพียงอย่างเดียว คืออัพเกรดซีพียูมาใช้ 11th Gen Core หรือที่เราเรียกตามโค้ดเนมว่า Tiger Lake (รุ่น Pro 7 เป็น 10th Gen Ice Lake) และสามารถเลือกซื้อรุ่นที่มีช่องเสียบซิม LTE ได้ถ้าต้องการ
ซีพียู Tiger Lake ของ Surface Pro 7+ มีทั้งหมด 3 รุ่นย่อยคือ Core i3-1115G4, Core i5-1135G7, Core i7-1165G7 โดยสามารถใส่แรมได้สูงสุด 32GB และสตอเรจได้สูงสุด 1TB (มีเฉพาะในรุ่น Core i7 รุ่นท็อปสุด) เครื่องบางรุ่นย่อยมีแบบสีดำให้เลือกด้วย แต่สีมาตรฐานคือสีเทา
เครื่องตัวอย่างที่ได้รับมาทดสอบ มีสเปกดังนี้

ซีพียู: 11th Gen Core i5-1135G7
จีพียู: Iris Xe
แรม: 16GB
สตอเรจ: 256GB
เป็นรุ่น Wi-Fi + LTE
ระบบปฏิบัติการ Windows 10 Pro

ราคาขายในไทยตามประกาศของไมโครซอฟท์ อยู่ที่ 55,900 บาท ราคานี้รวมปากกา Surface Pen แล้ว แต่ยังไม่รวมคีย์บอร์ด Type Cover ที่ราคา 4,900 บาท
เนื่องจาก Blognone เคยรีวิว Surface Pro 7 รุ่นดั้งเดิมไปแล้ว รีวิวนี้จะเน้นไปที่จุดแตกต่างของ Pro 7+ ที่เพิ่มเข้ามาเท่านั้น

ตัวเครื่องภายนอก
หน้าตาของ Surface Pro 7+ เหมือนกับ Surface Pro 7 ทุกประการ (ต้องบอกว่าหน้าตาแบบนี้ เหมือนเดิมมาหลายรุ่นแล้วด้วย) ข้อดีคือใช้อุปกรณ์เสริมอย่างคีย์บอร์ดหรือเคสร่วมกันได้ ไม่ต้องซื้อใหม่

หน้าจอยังเป็นจอขนาด 12.3″ PixelSense ความละเอียด 2736×1824 สัดส่วน 3:2 เหมือนเดิม

ขอบเครื่องด้านซ้าย มีช่องเสียบหูฟัง 3.5 มิลลิเมตรเพียงอย่างเดียว

ขอบเครื่องด้านขวา มีพอร์ต USB-C หนึ่งพอร์ต (ยังไม่รองรับ Thunderbolt 3), USB-A หนึ่งพอร์ต และสายชาร์จ Surface Connect หนึ่งพอร์ต

การชาร์จไฟสามารถทำได้ทั้งผ่าน Surface Connect และ USB-C เท่าที่ลองชาร์จด้วยอแดปเตอร์ USB-C ของยี่ห้ออื่นก็ทำได้ปกติดี ไม่มีปัญหาอะไร

กล้องหน้ายังถือเป็นจุดเด่นของ Surface มานาน และยิ่งเห็นประโยชน์ในยุคที่เราต้องประชุมออนไลน์กันบ่อยขึ้นมาก กล้องมีความละเอียด 5MP และเป็นกล้อง Infrared รองรับการล็อกอินด้วยใบหน้า Windows Hello เช่นเดิม สะดวกสบายในการใช้งาน แม้ตัวกล้องไม่ได้อัพเกรดใดๆ มานานแล้ว

ช่องเสียบซิม LTE และ SSD ถอดเปลี่ยนได้
การเปลี่ยนแปลงสำคัญของฮาร์ดแวร์ Pro 7+ ซ่อนอยู่ด้านหลังขาตั้ง เพราะมีช่องเสียบซิม และ SSD แบบถอดเปลี่ยนได้เองเพิ่มมา

กรณีของ SSD ต้องใช้เข็มจิ้มซิมกดตรงรู เพื่อให้ฝาหลุดออกมา (ตัวฝามีส่วนที่เป็นแม่เหล็กซะด้วย) ถ้าต้องการอัพเกรดเป็น SSD ขนาดที่ใหญ่ขึ้น สามารถซื้อ SSD ไซส์ M2 มาเปลี่ยนเองได้เลย

ตรงนี้มีโน้ตเล็กๆ ว่า SSD ของไมโครซอฟท์จะมีตัวระบายความร้อนหุ้มมาให้ด้วย ขนาดจึงอาจไม่พอดี 100% แต่เห็นมีตัวอย่างยูทูบเบอร์บางราย ใช้เทประบายความร้อนมาแปะให้พอดีกันแทน ตามคลิปด้านล่าง
ส่วนช่องใส่ซิมของ Surface Pro 7+ มาแทนช่องใส่ microSD เดิม แปลว่าต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าจะเอาช่องใส่ซิมก็ไม่มี microSD มาให้ ข้อจำกัดอีกอย่างคือยังรองรับเฉพาะ 4G LTE เท่านั้น (โมเด็มเป็น Snapdragon X20) ไม่รองรับ 5G
ผมลองนำซิมจากมือถือมาใส่ดู พบปัญหาเล็กน้อยว่ารูสำหรับจิ้มมีขนาดเล็กมาก ใช้เข็มจิ้มซิมของตัวเองแล้วจิ้มไม่เข้า (รูเล็กเกิน) แต่ไมโครซอฟท์ก็ให้เข็มจิ้มซิมมาในกล่องด้วย ซึ่งจิ้มได้ไม่มีปัญหา
ใส่ซิมเรียบร้อยแล้วก็เข้าในหน้า Settings > Cellular สามารถเลือกได้ทั้งซิมแบบปกติ (SIM1) หรือจะเป็น eSIM ก็รองรับ ตั้งค่าเรียบร้อยก็พร้อมใช้งานได้ทันที

ซีพียู Core 11th Gen Tiger Lake และจีพียู Iris Xe
ในแง่สเปก ของใหม่ใน Pro 7+ มีเพียงอย่างเดียวคืออัพเกรดซีพียูมาเป็น 11th Gen Tiger Lake ซึ่งจุดขายสำคัญคือใช้จีพียูตัวใหม่ Iris Xe ที่คุยว่าแรงขึ้นจาก Intel UHD ของเดิมมาก
แต่ก็ต้องโน้ตไว้ก่อนว่า แม้แต่อินเทลยังไม่กล้านำ Iris Xe มาจับตลาดเกมมิ่งเลย (จะเริ่มทำตลาดด้วยการ์ด Xe-HPG ที่จะออกในปีนี้) และไมโครซอฟท์เองก็ระบุชัดเจนว่า Surface Pro 7+ เป็น “for Business” นั่นคือไม่เน้นเกมมิ่ง ดังนั้นประสิทธิภาพที่ดีขึ้นของ Xe จะมุ่งไปที่แอปพลิเคชันทั่วไป (เช่น ออฟฟิศ กราฟิก ออกแบบ ตัดต่อ ฯลฯ) เป็นหลัก
เครื่องที่ได้รับมาทดสอบเป็น Core i5-1135G7 ที่จีพียู Iris Xe มี execution unit (EU) จำนวน 80 ตัว ลดจากรุ่นท็อป Core i7-1165G7 ที่มี EU เยอะกว่าคือ 96 ตัว

ผมลองรัน Surface Pro 7+ เพื่อดูประสิทธิภาพของ Iris Xe 80 EU ด้วยเบนช์มาร์ค 3DMark Time Spy ได้คะแนนรวม 996 คะแนน (เทียบกับ Iris Xe 96 EU ที่ทำได้ราว 1,200 คะแนน) นับเฉพาะคะแนนกราฟิกที่ 931 คะแนน แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับมาตรฐานของจีพียูโน้ตบุ๊กสายทำงานทั่วไป
ภาพรวมแล้ว การมาถึงของ Iris Xe คงไม่ได้ช่วยให้เล่นเกมได้ดีขึ้นมากนัก พอเล่นเกมที่กราฟิกไม่แรงได้บ้าง แต่ประโยชน์ของมันคงอยู่ที่การใช้งานเชิงธุรกิจเป็นหลัก

ความร้อน แบตเตอรี่ และการใช้งาน
Surface Pro 7/7+ รุ่นที่เป็น Core i3 และ i5 เป็นดีไซน์แบบ fanless คือไม่มีพัดลม เพราะการปล่อยความร้อนไม่ได้เยอะมาก ในขณะที่รุ่น Core i7 ยังเป็นดีไซน์แบบมีพัดลมอยู่
เท่าที่ทดลองใช้งานท่องเว็บ โซเชียล ดูวิดีโอทั่วๆ ไป ตัวเครื่อง Surface Pro 7+ ค่อนข้างเย็นทีเดียว จะมีแค่ตอนรันงานหนักๆ (เช่น รันเบนช์มาร์คข้างต้น) ที่ตัวเครื่องด้านหลังซีกบนจะอุ่นขึ้น แต่ก็ยังไม่ร้อนจัดจนจับไม่ได้
ประเด็นเรื่องแบตเตอรี่ ไมโครซอฟท์คุยว่าใช้ได้นานสูงสุด 15 ชั่วโมง (รุ่น Wi-Fi) หรือ 13.5 ชั่วโมง (รุ่น LTE) ซึ่งในการใช้งานจริงย่อมไม่ถึงอยู่แล้ว จากการใช้งานทั่วๆ ไป ไม่ได้รันลูปงานเพื่อทดสอบแบบจริงจัง อยู่ได้ประมาณ 8 ชั่วโมง ถือว่าระดับกลางๆ ไม่ได้น้อยจนน่าเกลียด หรือนานจนตะลึง
การใช้งานอื่นๆ ไม่มีอะไรแตกต่างจาก Surface Pro รุ่นก่อนๆ เพราะเป็น form factor ที่ผ่านการพิสูจน์ตัวเองมานานพอสมควรแล้ว หลายสิ่งที่ Surface ทำได้ดี (เช่น จดโน้ตด้วยปากกา ปรับเป็นแท็บเล็ตได้ง่าย ล็อกอินด้วยใบหน้าได้) ก็ยังทำได้ดีเหมือนเดิม ส่วนสิ่งที่เป็นจุดอ่อนหรือทำได้ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดทางฮาร์ดแวร์ (เช่น ขาตั้งวางบนพื้นที่ไม่ใช่โต๊ะได้ยาก) หรือซอฟต์แวร์ (จากตัว OS เอง) ก็ยังเป็นเช่นเดิม

Surface Pro 7+ วิวัฒนาการขั้นสุดของ Surface Pro ก่อนเข้าสู่ยุคใหม่
ประเด็นที่น่าพูดถึงมากที่สุดของ Surface Pro 7+ คือตัว + ในชื่อรุ่น ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ไมโครซอฟท์ตั้งชื่อด้วย + เพื่อแสดงให้เห็นว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจาก Surface Pro 7 แต่ยังไม่นับเป็น Surface Pro 8
การตั้งชื่อรุ่นแบบนี้ ต่างจากธรรมเนียมเดิมที่ไมโครซอฟท์ออก Surface Pro รุ่นใหม่แทบทุกปี (ตามรอบการออกซีพียูของอินเทล) แล้วขยับเลขท้ายขึ้นเรื่อยๆ แต่รอบนี้การอัพเกรดซีพียูใหม่เป็น Tiger Lake กลับไม่เพิ่มเลขรุ่นแบบที่แล้วๆ มา มิหนำซ้ำยังแปะตรา for Business มาขายเฉพาะตลาดองค์กรด้วย
ท่าทีนี้ของไมโครซอฟท์เป็นสิ่งบ่งชี้กลายๆ ว่าการอัพเกรดซีพียู และการเปลี่ยนอย่างอื่นเล็กๆ น้อย (SSD อัพเกรดได้, ช่องใส่ซิม) คงไม่เพียงพอแล้วสำหรับการอัพเกรดเครื่องในสายตาผู้บริโภค
ตัวบอดี้ของ Surface Pro นั้นไม่ถูกอัพเกรดใหญ่มานานมากแล้ว เราใช้บอดี้รุ่นนี้มาตั้งแต่ Surface Pro 4 ที่ออกในปี 2015 โน่นเลย ระหว่างนั้นมีเพียงการอัพเกรดเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น เช่น อัพเกรดขาตั้งให้กางได้มากขึ้น (Surface Pro 5), เพิ่มรุ่นสีดำ (Surface Pro 6), และเปลี่ยนพอร์ต Mini DisplayPort มาเป็น USB-C (Surface Pro 7) ดังนั้น Surface Pro 7+ ที่เพิ่ม SSD ถอดเปลี่ยนได้ และช่องใส่ซิมเข้ามา ถือเป็นอีกขั้นเล็กๆ ของวิวัฒนาการนี้ และน่าจะเป็นจุดสุดทางของบอดี้นี้แล้ว
มาถึงปี 2021 หน้าตาแบบของ Surface Pro 7+ ถือว่าเริ่มล้าสมัยแล้ว เรายังเห็นแท็บเล็ตขอบจอหนาแบบเดียวกับ Surface Pro 4 ที่ออกในปี 2015 อยู่เช่นเดิม ปากกาต้องพกแยก

ที่น่าสนใจคือ ไมโครซอฟท์เองก็มี “วิสัยทัศน์” ของ Surface แห่งอนาคตออกมาให้เห็นกันแล้ว มันคือ Surface Pro X ที่ขอบจอเล็กลง ตัวเครื่องเล็กลง คีย์บอร์ดมีช่องเก็บปากกา เปลี่ยนมาใช้หน่วยประมวลผลที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น เพียงแต่ข้อจำกัดเรื่องสถาปัตยกรรม Arm ทำให้เรายังเห็น Surface Pro X มีสถานะเป็น “อุปกรณ์กึ่งทดลอง” ที่แยกสายจาก Surface Pro รุ่นหลัก วางขายคู่ขนานกัน
Surface Pro X ออกมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2019 พร้อมกับ Surface Pro 7 แต่พอมาถึงปี 2021 เรายังเห็น Surface Pro 7+ ที่หน้าตาแบบเดิมออกมาขายอยู่ ตรงนี้ทุกคนคงมีความเห็นร่วมกันว่า Surface Pro รุ่นถัดไป ที่น่าจะเปิดตัวช่วงปลายปี 2021 (และยังไม่รู้ว่าจะเรียกว่า Pro 8, X2 หรือชื่ออื่น) น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่รอคอยกันมานาน

ที่มา:Blognone
อ่านบทความเพิ่มเติม doodee-web.com

Tags: , , ,
Ad Image สินค้าลดราคา