รีวิว Halo Infinite การคืนฟอร์มของ Master Chief ในรูปแบบโอเพ่นเวิลด์
เมื่อพูดถึง Halo หลายคนอาจจะนึกถึงเกมยิงรุ่นเดอะที่เป็นของคู่กันกับเครื่อง Xbox ที่ขับเคี่ยวกันมากับ Call of Duty และบูมที่สุดยุค Halo 3 บนเครื่อง Xbox 360 ซึ่งได้คะแนนไปถึง 94 คะแนนจาก Metacritic ก่อนจะเงียบหายไปจากสังคมป็อปคัลเจอร์ เพราะภาคหลังๆ อย่าง Halo 4 และ Halo 5: Guardians แม้จะได้คะแนนจากนักรีวิวดีพอสมควร แต่ตัวเกมก็เริ่มซ้ำเดิม ร่วมถึงทิศทางเนื้อเรื่องไม่ค่อยถูกใจผู้เล่นนัก
Halo Infinite แม้จะเปิดตัวได้ไม่ค่อยสวยนัก จากการเร่งรีบนำตัวเกมออกมาโชว์จนเหมือนยังไม่เสร็จดี จนถูกกระแสวิจารณ์อย่างหนักว่ากราฟฟิกล้าหลัง จนทีมงาน 343 Industries ต้องเลื่อนวางจำหน่ายตัวเกม จากปี 2020 มาเป็น 8 ธันวาคมที่ผ่านมา
แต่นับได้ว่าการเลื่อนวางจำหน่ายครั้งนี้ไม่ทำให้ผู้เล่นผิดหวัง เพราะตัวเกมกลับคืนฟอร์มในแง่เนื้อเรื่อง แถมยังนำ Master Chief กลับมาในรูปแบบเกมยิงทำภารกิจในโลกเปิด สไตล์ Far Cry พร้อมปรับปรุงกราฟฟิกให้ดีขึ้นกว่าตัวอย่างแรกมาก และผู้เขียนจะมารีวิวประสบการณ์การเล่นบนพีซีในโหมดผู้เล่นคนเดียว โดยอาจมีสปอยล์เล็กน้อยในภารกิจเปิดตัวของเกม แต่ไม่มีสปอยล์จุดสำคัญในเนื้อเรื่องส่วนอื่น
Disclaimer: รีวิวนี้เล่นเกมเวอร์ชั่น Steam (PC) โค้ดรีวิวได้รับการสนับสนุนจากทีมงาน 343 Industries
Master Chief ยังไม่ตาย เขาแค่หายไปจำศีล
เนื้อเรื่องเกมภาคนี้เกิดขึ้นหลังยาน UNSC Infinity ถูกโจมตีโดย The Banished กบฎที่แยกออกมาจาก The Covenant นำโดย Atriox และ Master Chief พ่ายแพ้ในการรบบนยาน จนสลบและลอยออกไปในอวกาศ แต่เกราะ Mjolnir ก็ช่วยรักษาชีวิต Master Chief ไว้ได้ ก่อนเขาจะถูกช่วยโดย Echo-216 และกลับมายัง Zeta Halo เพื่อรวบรวมกำลัง UNSC และสู้กับ The Banished ต่อไป
เนื้อเรื่องที่เหลือในภาคนี้ พยายามดึงเนื้อเรื่องหลักกลับมาจากการออกทะเลพอสมควร มีการหักมุมเล็กน้อยให้ได้แปลกใจ โดยผู้เล่นจะได้พบกับเสียงพากย์ที่คุ้นเคยของ Jen Taylor ผู้พากย์ Cortana ในบทบาทที่แตกต่างไป ส่วน Steve Downes ผู้พากย์ Master Chief ก็กลับมาพูดไลน์สั้นๆ เท่ๆ อีกครั้งในเกมนี้ ซึ่งมีให้ฟังกันจนจุใจแน่นอน
กราฟฟิก
สเปกเครื่องรีวิว
ซีพียู Core i5 8600k (Stock)
การ์ดจอ RTX 3070 VRAM 8GB
แรม 32GB
เล่นบน HDD จานหมุน
การตั้งค่า
กราฟฟิกของเกมพัฒนาจากตัวอย่างแรกขึ้นเยอะ แต่ในหลายๆ จุดก็ยังไม่ได้ถือว่าล้ำหน้าในระดับเน็กซ์เจ็นขนาดนั้น รายละเอียดของแสงเงายังมีผิดเพี้ยนบ้าง พื้นผิวที่เท็กซ์เจอร์ไม่ละเอียดก็ยังมีอยู่หลายจุด ถือว่าเป็นกราฟฟิกในระดับที่ยอมรับได้ ไม่ได้เป็นเกมที่สวยงามระดับท็อปแต่อย่างใด แต่พอผนวกกับแมคคานิคการยิงที่รวดเร็ว ก็ไม่ได้ทำให้มีปัญหาตอนเล่นมากนัก
ด้านประสิทธิภาพ ผู้เขียนไม่พบปัญหาด้านประสิทธิภาพมากนัก อาจจะมีช่วงเฟรมเรตลดลงบางครั้งในขณะที่มีระเบิดหรือมีเอฟเฟกต์แสงเยอะๆ ในฉากจากการระเบิดผนวกกับอาวุธพลาสม่า แต่เฟรมเรตช่วงปกติก็สามารถเล่นได้ที่มากกว่า 60FPS แทบจะตลอดเวลา
ภาพตัวอย่าง
เกมเพลย์
ในช่วงเปิดตัวของเกมก่อนผู้เล่นจะไปถึง Zeta Halo ตัวเกมยังเป็นเกมยิงตะลุยด่านแบบเดิมๆ อยู่ น่าจะเพื่อให้ผู้เล่นค่อยๆ ปรับตัวกับแมคคานิคใหม่ก่อนลงไปยังโลกเปิด แต่ในยุคนี้ เกมยิงในโลกเปิดไม่ใช่เรื่องใหม่นัก ผู้เล่นคงใช้เวลาไม่นานในการทำความคุ้นเคย
ของเล่นใหม่ที่ Master Chief ได้มาตั้งแต่เริ่มเกมคือ Grappling Hook คล้ายคลึงกับใน Doom, Just Cause หรือเกมอื่น ที่สามารถใช้ดึงตัว Master Chief เคลื่อนไหวไปในฉาก ดึงถังระเบิดมาเพื่อปา ดึงอาวุธที่อยู่ในฉากมาใช้งาน หรือใช้ดึงตัวเองเข้าไปใกล้ศัตรูมากขึ้นได้ ก่อนจะได้รับอัพเกรดอุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มเติมตามเนื้อเรื่อง เช่น Sensor แสกนหาศัตรูในพื้นที่ และอื่นๆ ซึ่งอุปกรณ์แต่ละชิ้นสามารถอัพเกรดได้โดยการใช้ Spartan Core ได้
เมื่อผู้เล่นลงมายัง Zeta Halo กับ Echo-216 ตัวเกมก็จะกลายเป็นเกมยิงโลกเปิดอย่างเต็มรูปแบบ โดยผู้เล่นจะสามารถทำภารกิจต่างๆ ที่กระจายอยู่ในแผนที่ หรือเลือกทำภารกิจหลักตามเนื้อเรื่องก็ได้ ภารกิจย่อยช่วยให้ยืดเวลาการเล่นได้นานขึ้นกว่าการทำภารกิจแบบเป็นเส้นตรงในภาคก่อนๆ และมีความหลากหลายพอประมาณโดยไม่ทำให้รู้สึกว่าจำเจจนเกินไป
ภารกิจย่อยมีทั้งยึดเอาต์โพสต์ FOB เพื่อเปิดแมพ แบบที่คนเล่นเกมยิงโลกเปิดน่าจะคุ้นเคย รวมไปถึงทำลายฐานที่มั่นต่างๆ และทำลายเสาสัญญาณกระจายเสียงของ The Banished, สังหารหัวหน้าหน่วยของ The Banished เพื่อรับอาวุธใหม่ ช่วยเหลือทหาร UNSC ที่กำลังถูกโจมตี และเก็บของสะสมต่างๆ
การทำภารกิจย่อยต่างๆ ผู้เล่นจะได้ Valor Point ที่ใช้เพื่อปลดล็อกอาวุธและยานพาหนะเช่น Warthog, รถถัง Scorpion และอื่นๆ ที่สามารถเรียกมาส่งตาม FOB ได้ ได้ Spartan Core มาอัพเกรดอุปกรณ์รวมถึงทหาร UNSC ที่เราช่วยไว้ ก็สามารถมาช่วยเราทำภารกิจ หรือเป็นพลปืนบน Warthog ได้ ซึ่งแม้จะตายง่าย แต่ก็ยิงแม่น และช่วยแบ่งเบาภาระการจัดการศัตรูเวลาทำภารกิจได้ดี และเพิ่มสีสันให้โลกเปิดได้
ข้อเสีย
จุดแรกที่เป็นข้อเสียของ Halo Infinite คือสภาพแวดล้อมของ Zeta Halo ที่แม้ภารกิจย่อยจะหลากหลาย แต่ผู้เล่นก็จะต้องพบกับสภาพแวดล้อมหน้าผาหินพร้อมต้นไม้ประปรายแบบเดิมๆ เกือบทั้งเกม ผนวกกับกราฟฟิกที่เป็นระดับกลางๆ ไม่ได้มีฉากสวยๆ ให้ได้ดูมากนัก เล่นไปนานๆ ก็อาจทำให้เบื่อได้
ข้อเสียอีกจุดคือการบังคับยานพาหนะ ยานพาหนะที่วิ่งเร็วเช่น Mongoose หรือ Warthog ดูไร้น้ำหนักและพลิกคว่ำได้ง่าย ซึ่งแม้มีปุ่มให้พลิกรถได้ หลายจังหวะที่ผู้เขียนพยายามเปิดตัวเท่ๆ โดยการเหินรถเข้าไปในฐานศัตรู ก็ทำให้รถพลิกคว่ำไม่เป็นท่าและถูกรุมยิงตายได้เหมือนกัน และบางครั้งก็พารถเข้าไปติดอยู่ในซอกจนนำออกมาไม่ได้
ส่วนรถถังอย่าง Scorpion แม้พอได้ขับแล้วจะทรงพลังเหมือนเดิม แต่ก็ดูจะบังคับทิศทางได้ยากเล็กน้อย เพราะตัวเกมจะอิงทิศทางปุ่มหน้าหลังจากที่ผู้เล่นหันปืนไป ไม่ได้อิงอยู่กับตัวรถ เช่นถ้าผู้เล่นหันปืนไปด้านหลังแล้วกดเดินหน้า รถก็จะถอยหลังแทน
อีกจุดที่น่าเสียดายคือเมื่อเกมกลายเป็นแบบโลกเปิด การเลือกกลับไปเล่นภารกิจเนื้อเรื่องย้อนหลังที่เคยทำได้ในภาคก่อนๆ ก็ไม่สามารถทำได้แล้วในภาคนี้ และเมื่อเล่นเนื้อเรื่องไปเรื่อยๆ อาจมีพื้นที่บางส่วนที่ผู้เล่นกลับไปไม่ได้แล้ว แนะนำให้เก็บของสะสมและภารกิจย่อยต่างๆ ให้ครบตั้งแต่เนิ่นๆ
ส่วนการเล่นแบบ co-op ก็ยังไม่ถูกใส่เข้ามาในเกม แต่ 343 Industries เลือกที่จะขัดเกลาให้เรียบร้อย และจะออกมาเป็นอัพเดตในปีหน้าแทน ซึ่งแม้จะดีที่ 343 ไม่เร่งใส่ส่วนที่ยังไม่เสร็จเข้ามาในเกม แต่ก็ไม่แน่ชัดว่าพอถึงปีหน้า คนอื่นที่เล่นจบไปแล้ว จะเปลี่ยนไปเล่นเกมอื่นจนหาเพื่อนเล่นด้วยได้ยากหรือยัง
สรุป
Halo Infinite เป็นเกมที่เรียกได้ว่าเป็นการคืนฟอร์มของ Halo ที่แม้จะไม่ได้เป็นเกมที่ถึงกับดีเยี่ยม และก็ยังมีข้อติอยู่บ้าง แต่ก็นับได้ว่าเป็นการกลับสู่มาตรฐานเดิมของเนื้อเรื่องที่มาพร้อมกับเกมเพลย์รูปแบบใหม่ที่แฟนๆ เกมยิงโลกเปิด รวมถึงแฟนๆ Halo น่าจะพึงพอใจ ที่น่าตื่นเต้นกว่าคือในอนาคต 343 Studios ที่เป็นสตูดิโอหัวหอกของ Microsoft จะนำอะไรในจักรวาล Halo กลับมาฝากแฟนๆ อีกบ้าง และน่าติดตามว่าซีรีส์ Halo จะเดินไปในแนวทางไหนต่อไป
ที่มา:Blognone
อ่านบทความเพิ่มเติม doodee-web.com