7 February, 2023
adminNON
0 Comments
รีวิว Surface Duo 2 เทียบ Surface Duo (และ Pixel 3)
หลังจากไมโครซอฟท์ออก Surface Duo มาโดยชูจุดเด่นการทำงานแบบมัลติทาสก์ ผมที่รู้สึกว่าสมาร์ทโฟนมีปัญหากับการทำงานรูปแบบนี้ก็สั่งมาใช้งานตั้งแต่รุ่นแรก เมื่อไมโครซอฟท์ออก Surface Duo 2 ที่แก้จุดอ่อนในรุ่นแรกออกไปหลายอย่างและมีโปรโมชั่นที่รับได้ก็ถือโอกาสเปลี่ยนรุ่นตามมาได้ระยะหนึ่ง เลยขอมาเล่าส่วนที่เปลี่ยนไปในรุ่นที่สองว่าดีขึ้นจริงไหมเป็นอย่างไรกันบ้าง
TL;DR
เปลี่ยนจาก Duo 1 -> Duo 2 แล้วชีวิตดีขึ้น แก้ข้อเสียไปมาก ใช้งานได้สะดวกและครบขึ้น กล้องคุณภาพสู้เรือธงอื่นไม่ได้แต่ดีขึ้นมากจนไม่ต้องพกเครื่องสำรองไว้ถ่ายภาพ ปากกาเร็วและดีเทียบชั้น Apple หน้าจอลื่นขึ้นมี HDR แต่สีสองจอไม่เท่ากัน Glance Bar มีข้อจำกัดสูงมากจนไม่ค่อยมีประโยชน์ แบตใหญ่ขึ้นแต่ไม่อึดขึ้น
ถ้าตามสเปคเลยส่วนที่ต่างก็จะเป็น
หน้าจอใหญ่ขึ้นเล็กน้อยแม้ขนาดเครื่องจะแคบลงเล็กน้อย โดยทำขอบด้านบน/ล่างเล็กลง
จอขยายจากฝั่งละ 5.6” 1350×1800 มาเป็น 5.8” 1344×1892 รวมสองฝั่ง 8.3” 2688×1892 ใหญ่ขึ้นเล็กน้อย
สามารถแสดงสีแบบ HDR แล้ว 100% SRGB, DCI-P3
อัตรารีเฟรชจอภาพจาก 60Hz เป็น 90Hz
เพิ่มจอโค้งในขอบด้านในที่ติดกัน ทำให้เวลาพับเครื่องแล้วยังสามารถแสดงผลด้านนอกได้ด้วย
เครื่องสูงเท่าเดิม แคบลงเล็กน้อย หนาขึ้นเล็กน้อย
แบตเตอรี่ เพิ่มจาก 3577mAh เป็น 4449mAh
ชาร์จเร็ว เพิ่มจาก 18W เป็น 23W
CPU เพิ่มจาก Qualcomm Snapdragon 855 เป็น Snapdragon 888
RAM เพิ่มจาก 6GB LPDDR4 เป็น 8GB LPDDR5
จากมีกล้องเดียวในความหนาเครื่อง 4.8mm ก็มาเพิ่มกล้องปูดอีก 3 ตัว เป็นกล้องหน้า 1 กล้องหลัง ultra-wide 16MP, wide 12MP, tele 12MP
เพิ่ม 5G และ Wi-Fi6 (ที่ผมลองคือใช้ 5G และ VoLTE บน Truemove-H ได้)
เพิ่ม dual-standby SIM + eSIM พร้อมกัน
เพิ่ม NFC
มาที่ความเห็นส่วนตัวจากที่ใช้มาราว 1 สัปดาห์ด้วยตัวเครื่องสีขาว (สีขาวใช้กลางแดดเครื่องยังร้อนเร็วมาก สีดำน่าจะหนักกว่านั้นเลยเอาสีขาว) + Pen Cover สีขาว + Slim Pen 2 ครับ การใช้งานทั่วไปไหลลื่นขึ้นมากจากชิปเรือธงที่ใหม่ขึ้นมา 2 รุ่น การมี NFC ก็ทำให้สะดวกขึ้นมากเวลาจะใช้กุญแจ FIDO เช่น Yubikey ไม่นับว่าทำให้เช็คยอดเงินในบัตร Suica ได้ (เพราะคงยังไม่มีโอกาสได้ใช้เร็วๆ นี้ 😢)
ตัวเครื่องหนาขึ้นเล็กน้อยอาจจะถือว่าเป็นข้อดีบางส่วน เพราะใน Duo 1 มีคนพอร์ตชาร์จแตกหักกันเยอะพอสมควรจากความที่มันบางมาก และ Duo 1 เองบางจนหัวชาร์จแม่เหล็กที่เสียบคาไว้จะหนากว่าตัวเครื่อง แม้ bumper ของจอขวาจะช่วยยกขอบขึ้นมาเล็กน้อยแต่พอร์ตชาร์จมันอยู่อีกข้างนึง เวลาวางก็จะหวั่นใจกับแรงกดตัวหัวแม่เหล็กอยู่บ้าง
หนาขึ้นมานิดนึง | ใกล้ – Duo 1, ไกล – Duo 2
ตัวไหนก็ไม่ได้เรียบจนแนบ | ขวา – bumper ปูดของ Duo 1, ซ้าย – กล้องปูดของ Duo 2
ในส่วนของพอร์ตชาร์จถูกย้ายจากริมซ้ายของจอขวามาไว้กลางหน้าจอขวาแล้ว ส่วนช่องใส่ซิมเองก็ย้ายจากขอบขวาจอขวามาไว้กลางขอบล่างจอซ้ายทำให้ถูก Pen Cover ปิดช่องซิมไว้ทั้งหมดเลย การเปลี่ยนซิมต้องเลื่อน Pen Cover ออกก่อน ซึ่งเลื่อนออกได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์แต่ถ้าเลื่อนบ่อยก็น่ากังวลว่าจะทำให้ช่องหลวม
พอร์ตชาร์จ | บน – Duo 1, ล่าง – Duo 2
Bumper
ของ Duo 1 ที่แถมมาเป็น bumper สองชั้นครับ ใช้แถบกาวติดกับเครื่อง ด้านติดเครื่องเป็นพลาสติกแล้วมียางหนาๆ หุ้มอีกที ซึ่งยางนี่มันเหนียว เวลาเอาเครื่องใส่กระเป๋ากางเกงจะฝืดน่ารำคาญพอควรเลย
หนำซ้าใช้ๆ ไปยางมันหลุดจากพลาสติกต้องคอยเอากาวสองหน้าแปะ น่าเบื่อมาก
ของ Duo 2 ผมไม่ได้สั่ง bumper ตัวปกติมาแต่เป็น Pen Cover แทน ในฝั่งจอขวาน่าจะเหมือนกับ bumper ตัวปกตินะครับ (ไม่แน่ใจ) แต่รอบนี้ไม่มียางเป็นแค่พลาสติกชั้นเดียว ใส่กระเป๋าลื่นสะดวกครับ
ข้อเสียคือมันไม่หนาแล้ว พอร์ตแม่เหล็กที่เสียบคาไว้มันก็จะทำให้วางเครื่องราบลงไปไม่ได้
และข้อดีมากๆ ของ Pen Cover ไม่ใช่การที่มันยึดปากกาเข้าที่ได้แน่นมากแต่คือมันชาร์จปากกาได้ในตัว (เข้าใจว่าเป็นข้อจำกัดในการจัดสรรที่ภายในเครื่องเลยต้องแยกมาไว้ที่ปก) ทำให้ไม่ต้องเอาปากกามาใส่แท่นชาร์จทิ้งไว้แล้วหยิบก่อนออกจากบ้านหรือเดินมาหยิบเวลาจะใช้อีกแล้ว
กล้อง
ความประทับใจแรกที่น่าจะเป็น pain ของผู้ใช้ Surface Duo รุ่นแรกหลายคนคือกล้องครับ ดีขึ้นมากๆ เพราะของเก่าคือถ้าอยากถ่ายสวยต้องพก Pixel 3 ไปด้วยเท่านั้นเลย ตอนนี้พอโอเคแล้วแม้จะสู้ Pixel 3 ไม่ได้ โดยจะมีขัดใจที่กล้อง ultra-wide ดันใส่ความละเอียดสูงกว่าตัวอื่นจนต้องใช้แสงมาก noise สูงกว่ากว่ากล้องอื่น รวมถึงแอปกล้องติดเครื่องถ่ายวิดีโอด้วย ultra-wide ไม่ได้
การที่กล้องหลักย้ายไปอยู่ข้างหลังแล้วส่งผลให้แฟลชถูกย้ายไปข้างหลังด้วย ได้ผลพลอยได้คือใส่ gesture กดปุ่ม power สองครั้งตอนพับเครื่องอยู่เพื่อเปิดไฟฉายได้ ใช้งานสะดวกขึ้น จากรุ่นเก่าไฟฉายเก่าใช้ยากมากและต้องน่าจะมีคนเผลอเปิดไฟฉายตอนกางใช้สองจออยู่เหมือนผมอีกแน่ๆ
กล้องหน้ามีเสียดายเล็กน้อย
ย้ายจากมุมขวาบนมาไว้กลางจอขวา ทำให้เอากล้องใหญ่ๆ ใส่ไว้ให้ปูดไปข้างหลังไม่ได้ คุณภาพเลยแทบไม่ต่างจากเดิม
แต่การย้ายก็ทำให้ภาพตอนประชุมออกมาดีขึ้น มุมสายตาไม่เอนมากเท่าเดิมเวลามองจอซ้ายครับ (แต่ก็ยังห่างนะ)
ดูภาพต้นฉบับได้ที่นี่
ภาพถ่ายภายนอกอาคารตอนแดดเปรี้ยงๆ
กล้องหน้า
Wide
Ultra Wide
Tele
ภาพในอาคาร อันนี้มี Pixel 3 กับ Duo 1 มาให้เทียบด้วยครับ ดูภาพต้นฉบับได้ที่นี่
Pixel 3
Surface Duo 1
Surface Duo 2 – front
Surface Duo 2 – wide
Surface Duo 2 – ultra wide
Surface Duo 2 – tele
หน้าจอ
หน้าจอใหม่ ใหญ่ขึ้น เล่นวิดีโอ HDR ได้แล้ว มีโค้งตรงกลาง ลื่นขึ้นจาก 90Hz
เรื่องขนาดนี่ผมไม่รู้สึกอะไรมากครับ
ช่องว่างระหว่าง 2 จอแคบลงครับด้วยการปรับมาใช้จอโค้งทำให้ขอบหน้าจอมันใกล้ขอบเครื่องเข้าไปอีก
ขอบโค้งด้านในมีข้อเสียแค่เล็กน้อยคือพอมันโค้งลงไปตรงกลางทำให้มานเป็นร่องที่ค่อนข้างกว้าง เวลาลากนิ้วข้ามจอมันจะสะดุดร่อง แต่ด้วยความที่บริเวณขอบของร่องมันยังเป็นส่วนของหน้าจออยู่ทำให้ตอนที่นิ้วตกร่องนี่นิ้วเราจึงโดนส่วนหน้าจอทั้งสองจอได้พร้อมกัน
เทียบกับของเดิมที่แม้สองจอจะเรียบเป็นระนาบเดียวกันและมีร่องที่แคบกว่ามากแต่ส่วนที่เป็นหน้าจอจริงๆ กลับอยู่ห่างจากกันพอสมควร เมื่อลากนิ้วผ่านช้าๆ อาจมีจังหวะที่นิ้วออกจากหน้าจอแรกและยังไปไม่ถึงหน้าจอที่สองทำให้ระบบคิดว่านิ้วเราไม่ได้สัมผัสหน้าจอแล้วได้
เครื่องแรกคือ Duo 1 เครื่องหลังคือ Duo 2 ครับ
แต่จอภาพใน Duo 2 มีคนเจอว่าจอสองข้างอุณหภูมิสีไม่เท่ากันเยอะมากรวมถึงผมด้วยทั้งที่รุ่นเก่าแทบไม่มีคนเจอ แต่การใช้งานจริงก็ไม่ได้ขัดใจเท่าไหร่ครับ ส่วนมากสองจอเปิดใช้งานกันคนละอย่างเลยไม่รู้สึก แต่น่าจะมีคนไม่โอเคกับเรื่องนี้พอสมควรเลย แต่ใน Duo 1 ก็มีคนเจอปัญหาเครื่องตัดสินใจเปิดหน้าจอไม่ถูก เช่น
พับเป็นโทรศัพท์จอเดียว ดันติดสองจอ ซึ่งอันนี้ผมยังไม่เจอบน Duo 2
พับเป็นโทรศัพท์จอเดียว ดันติดจอที่หันไปข้างหลัง โดยเฉพาะโหมดกล้องที่ไม่มีให้ double tap to activate อีกจอ ต้องหมุนไปๆ มาๆ ไม่ก็พับเป็นสองจอก่อนแล้วค่อยพับใหม่ อันนี้เค้าแก้ปัญหาโดยตั้ง default มาเป็นติดหน้าจอขวาเสมอ จะสลับให้ double tap อีกจอ แต่ยังสามารถตั้งเป็นแบบเดิมได้ แต่ผมเข็ดครับ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้จอซ้ายแล้วนี่ เราไม่ได้ต้องใช้กล้องที่จอขวาเพื่อถ่ายภาพแล้ว ซึ่ง Duo 1 ยังคงไม่มีตัวเลือกนี้แม้จะได้อัปเดตจนฟีเจอร์เหมือนกันเกือบหมดแล้วก็ตาม
ใช้สองจออยู่ อีกจอดันดับ ต้องเปลี่ยนระนาบเครื่องให้ติดทั้งสองจอก่อนแล้วค่อยเอนมาใหม่ อันนี้ผมยังไม่เจอบน Duo 2 อีกเช่นกัน
เทียบความรำคาญของเก่าที่ทำงานสะดุด กับของใหม่ที่สีไม่เท่ากัน ผมเลือกของใหม่ครับ 😂
เรื่องพับเครื่องเพื่อใช้หน้าจอเดียวได้ไม่แนบกันเนื่องจากตัวใหม่มีกล้องปูด อันนี้ของเดิมถ้าใส่ bumper มันจะนูนขึ้นมาเล็กน้อยอยู่แล้วครับ กับเวลาออกข้างนอกแล้วผมจะเอาปากกาแปะออกไปด้วย หนากว่ากล้องอยู่แล้ว
จะเป็นขัดใจตอนวางราบเพื่อเขียนมากกว่าเพราะกล้องมันอยู่แต่ด้านบน ถ้าเราเขียนที่มุมขวาล่างเนี่ยจอมันจะกระดกได้เอา อันนี้ติดลบเล็กน้อย
Glance Bar
ส่วนของ Glance Bar ที่อยู่ตรงจอโค้งเวลาพับเครื่องใช้งานได้ไม่กี่อย่างเท่านั้น
ขึ้นปริมาณแบต เฉพาะตอนเสียบชาร์จหรือถอดเท่านั้น ระหว่างชาร์จไม่เห็น
ขึ้นระดับเสียงเวลากดปรับเสียงตอนฟังเพลงอยู่
ขึ้น animation สายเรียกเข้า (รวมถึงสายเรียกเข้าผ่านแอป) โดยไม่ขึ้นชื่อหรือเบอร์
เวลาการแจ้งเตือนเข้าหรือกดปุ่ม power จะขึ้นนาฬิกาและจำนวน notification เฉพาะของ
สายเข้าไม่ได้รับ
SMS ที่ยังไม่ได้อ่าน
จำนวนการเตือนจากแอป Microsoft Teams
ยังไม่มีการใช้งานอื่นใดให้ใช้ รวมถึงไม่ขึ้นการเตือนของแอปอื่นไม่ว่าจำนวนหรือไอคอนก็ตาม แค่ Glance Bar จะติดขึ้นมาแสดงเวลาหรือการเตือนที่อยู่ในรายการข้างต้นเท่านั้น ดูประโยชน์น้อยเกินไปหน่อย
ปากกา
จากการไปลอง Surface Slim Pen 2 บน Surface Duo 2 เทียบกับ Apple Pencil 2 บน iPad Air (ของคนอื่น) มา พบว่าถ้านับการเขียนอย่างเดียวตอนนี้ผมพลิกให้ฝั่ง Surface ชนะแล้วครับ หลังจากบ่นมานาน
แต่ทั้งนี้บนหน้าเว็บระบุไว้ชัดเจนว่า Surface Slim Pen 2 ไม่รองรับ zero-force inking (เขียนได้โดยไม่ต้องออกแรงกดเลย น่าจะคล้าย Apple Pencil แต่ Apple Pencil นี่จริงๆ มันเริ่มเขียนติดตั้งแต่ก่อนดินสอโดนหน้าจอเสียอีก), tilt (ดูการเอียงปากกา มีก็ดีแต่ใช้จดๆ วาดๆ แบบผมไม่ได้มีผลอะไร) และ tactile signal (สั่นตัวปากกาเวลาเขียน จำลองความรู้สึกเขียนบนพื้นผิวต่างๆ) เมื่อใช้กับ Surface Duo 2 นะครับ น่าเสียดายเหมือนกัน
การใช้ Slim Pen 1 และ 2 บน Duo 1 นั้นไม่ต่างกันในเรื่องของความเร็ว แต่ต่างที่หมึกออกไม่ตรงหัวคนละแบบ (ดูในคลิป) ตัว Slim Pen 1 นั้นจะออกมาระหว่างจุดที่สัมผัสกับมือ (ถ้าตั้งปากกาตรงจะออกตรง แต่ตอนเขียนผมเอนไงครับ) ส่วน Slim Pen 2 นั้นกลับออกเลยจุดสัมผัสไปอีก
ส่วนการใช้ Slim Pen ทั้ง 1 และ 2 บน Duo 2 นั้นเร็วขึ้นมากแบบรู้สึกได้ และหมึกออกมาตรงกับตำแหน่งสัมผัสกับหน้าจอทั้ง 2 รุ่นครับ
ทั้งนี้ Slim Pen 1 ไม่สามารถใช้ปุ่มด้านท้ายปากกาเพื่อสั่งงานตัวเครื่อง Duo 1 และ 2 ได้นะครับ ส่วน Slim Pen 2 สามารถสั่งงานได้ทั้ง Duo 1 และ 2 เลย
เครื่องแรกคือ Duo 1 นะครับ ปากกาที่หัวทู่กว่าคือ Slim Pen 1 ส่วนที่แหลมๆ คือ Slim Pen 2
แบตเตอรี่
เพิ่มแบตจาก ~3,500mAh มาเป็น ~4,500mAh ผมก็หวังว่าแบตมันจะอึดขึ้นนะครับ แต่จากการทดสอบพบว่าไม่ต่างกันนัก แม้ว่าซีพียูจะใหม่จะเป็นกระบวนการผลิตแบบ 5nm และเครื่องจะร้อนน้อยลงแล้วก็ตาม
จากการใช้แอปวัดกระแสไฟฟ้า (ซึ่งมันไม่แม่นยำครับ เข้าใจในเรื่องนี้แต่มันชี้ได้ระดับนึงและสอดคล้องกับการลดของแบตอยู่) พบว่าขณะเปิดจอเครื่องไว้เฉยๆ โดยไม่ทำอะไร Duo 1 จะใช้พลังงาน ~180mA แต่ Duo 2 กลับพุ่งไปอยู่ที่ ~320mA เลยทีเดียว แม้จะเปิด power saver mode ที่ลดหน้าจอจาก 90Hz ลงมาที่ 60Hz เท่ากันแล้วหรือเปิด airplane mode ช่วยแล้วก็ตามก็ยังไม่สามารถลดลงมาใกล้เคียง Duo 1 ได้
การใช้งานจริงไม่แย่อะไรครับ อึดเท่าๆ เดิม ผิดหวังเล็กน้อยเพราะอยากให้มันอึดขึ้นมาอีก ใช้งานเบาแบตลด ~15% ต่อชั่วโมง ถ้าทำอะไรหนักๆ ก็อาจจะทะลุ 20% ต่อชั่วโมงได้แต่เครื่องร้อนแน่นอน
อื่นๆ
ซอฟต์แวร์เสถียรขึ้นมากขณะที่ตอนนี้ตัว Duo 1 เองก็ได้อัปเดตจนเกือบเท่ากับ Duo 2 แล้ว ใช้ App บน Phone Link เปิดหลายแอปเต็มไปหมดบนคอมก็ได้
หนึ่งในเรื่องน่าหงุดหงิดคือ Microsoft Launcher ที่บน Duo ไม่เหมือนบน Android อื่นๆ เพราะมีฟังก์ชันเพิ่มให้จริง แต่การปรับแต่งถูกกวาดทิ้งเรียบ ตั้งจำนวนไอคอนที่อยากเป็นไม่ได้ backup ไม่ได้ ตั้ง gesture ไม่ได้ วาง icon/widget คร่อม grid ก็ไม่ได้ (Microsoft Launcher ทั่วไปตั้งให้วางที่ครึ่ง grid ได้)
ส่วน gesture ของระบบ Android ที่หายไป (เทียบกับ Pixel) คือการรูดซ้าย/ขวาบน navigation bar ส่วนนึงเพราะมันเป็น gesture ใช้โยนแอปข้ามจอเมื่อโยนใส่อีกจอนึง แต่อย่างน้อยก็น่าจะใส่กับการลากไปข้างที่ไม่มีจอไว้ให้หน่อยนะ
ที่มา:Blognone
อ่านบทความเพิ่มเติม doodee-web.com